วันอาทิตย์ที่ 6 ธันวาคม พ.ศ. 2552

ประวัติเมืองอรัญประเทศ

ชาวเมืองอรัญประเทศ อพยพมาจากเวียงจันทร์ และท่าอุเทนตั้งแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดกล้าให้เจ้าพระยาราชสุภาวดียกทัพไปปราบกบฏเจ้าอนุวงศ์ ชาวบ้านได้อพยพมา โดยพระภิกษุชื่อพระอาจารย์สาระบุตร ต่อมาได้ลาสิกขาบท มาเป็นผู้นำอพยพมาจนถึง “บ้านดงอรัญ” ในเขตอำเภอศรีโสภณ ประเทศกัมพูชา แต่สภาพแวดล้อมไม่เอื้ออำนวยจึงได้อพยพชาวบ้านมาหาที่อยู่ใหม่โดยเลือกเอาบริเวณใกล้ห้วยพรหมโหสถ์ ซึ่งบริเวณนั้นมีต้นแคฝอยมากมายชาวบ้านอรัญเดิมจึงเรียกที่อยู่นั้นว่า “บ้านอรัญทุ่งแค” ต่อมาพระอาจารย์สาระบุตร ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นเจ้าเมืองคนแรกของอรัญฯ ชื่อ “พระเหี้ยมใจหาญ” ต่อมาเมื่อพ.ศ.2435 สมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวปฏิรูปการปกครองใหม่ทำให้การปกครองระบบเจ้าเมืองหมดไป เมืองอรัญ มีสถานภาพเป็นอำเภอเมื่อ พ.ศ.2446 ราวพ.ศ.2449 หลวงชาญพิชัยยุทธ ถึงแก่กรรม เมืองอรัญจึงถูกลดฐานะจากอำเภอเป็นกิ่งอำเภอโดยขึ้นกับอำเภอวัฒนานคร และในปีพ.ศ.2449นั่นเองประเทศไทยต้องเสียดินแดนบางส่วนให้กับฝรั่งเศสตามหนังสือยกมณฑลบูรพาให้กับฝรั่งเศส ลงวันที่ 23 มีนาคม ร.ศ.125 เจ้าพระยาอภัยภูเบศก์ (ชุ่ม อภัยวงศ์) ผู้สำเร็จราชการมณฑลบูรพาและบริวารต้องอพยพย้ายจากพระตะบอง ผ่านอรัญ ไปตั้งชุมชนแห่งใหม่ ณ.ตำบลคลองวัว อำเภอเมือง จังหวัดปราจีนบุรี พ.ศ.2462 กรมรถไฟได้ปักหมุดกรุยทางเพื่อสร้างรางรถไฟจากอรัญประเทศจรดประเทศกัมพูชา พ.ศ.2469 ได้มีการเปิดเส้นทางเดินรถจากกบินทร์บุรี – อรัญประเทศ – พนมเปญ ทำให้มีการหลั่งไหลของกระแสวัฒนธรรมจากเมืองหลวงและประเทศข้างเคียงเป็นอันมาก พ.ศ.2481 มหาดไทยได้ ยกฐานะตำบลอรัญประเทศ เป็นเทศบาลตำบลอรัญญประเทศ

วันเสาร์ที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2552

ประวัติเทศบาลเมืองอรัญญประเทศ


เทศบาลเมืองอรัญญประเทศเดิมทีฐานะเป็นเทศบาลตำบลได้จัดตั้งตามพระราชกฤษฎีกา พุทธศักราช ๒๔๘๒ ประกาศในพระราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ ๓o กันยายน พ.ศ. ๒๔๘๒ เล่ม ๕๖ หน้า ๙๖๗-๙๗o มีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ ๓o กันยายน พ.ศ. ๒๔๘๒ เป็นต้นมา ขณะนั้นมีพื้นที่รวมทั้งหมด ๑๖๕ ตารางกิโลเมตร ต่อมาทางการได้พิจารณาเห็นว่าอาณาเขตของเทศบาลกว้างขวางเกินกำลังในงบประมาณของเทศบาลที่จะบำรุงดูแลพัฒนาได้อย่างทั่วถึง จึงได้ประกาศพระราชกฤษฎีกาเปลี่ยนแปลงเขตเทศบาลตำบลอรัญญประเทศ จังหวัดปราจีนบุรี พ.ศ. ๒๔๙๓ ตอนที่ ๕๔ เล่มที่ ๖๗ หน้าที่ ๙๒๗-๙๓๒ มีผลบังคับใช้วันที่ ๔ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๙๓ เป็นต้นมา โดยให้เนื้อที่เหลือเพียง ๕ ตารางกิโลเมตร เพื่อสะดวกและเหมาะสมในการบริหารงาน

ต่อมาเทศบาลตำบลอรัญญญประเทศได้ขอเปลี่ยนแปลงฐานะเป็นเทศบาลเมืองอรัญญประเทศ โดยกระทรวงมหาดไทยเปลี่ยนแปลงฐานะซึ่งมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ ๑๓ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๔๗ เป็นต้นมา

ในปี พ.ศ.๒๔๘๖ กระทรวงมหาดไทย ได้อนุมัติให้ใช้ตราสัญลักษณ์ของเทศบาลคือ รูปเทพยดา หัตถ์ซ้ายถือพระขรรค์หมายถึงการปกป้องคุ้มภัย หัตถ์ขวาถือรวงข้าว แสดงถึง การส่งเสริมพืชพันธุ์ธัญญาหารและควบคุมความอุดมสมบูรณ์และยืนบนดวงอาทิตย์ที่ทอประกายรัศมีอยู่ทางทิศตะวันออกอยู่ในวงกลมที่มีอักษรว่า"เทศบาลตำบลอรัญญประเทศ ปัจจุบันเปลี่ยนเป็นเทศบาลเมืองอรัญญประเทศ "