วันอาทิตย์ที่ 6 ธันวาคม พ.ศ. 2552

ประวัติเมืองอรัญประเทศ

ชาวเมืองอรัญประเทศ อพยพมาจากเวียงจันทร์ และท่าอุเทนตั้งแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดกล้าให้เจ้าพระยาราชสุภาวดียกทัพไปปราบกบฏเจ้าอนุวงศ์ ชาวบ้านได้อพยพมา โดยพระภิกษุชื่อพระอาจารย์สาระบุตร ต่อมาได้ลาสิกขาบท มาเป็นผู้นำอพยพมาจนถึง “บ้านดงอรัญ” ในเขตอำเภอศรีโสภณ ประเทศกัมพูชา แต่สภาพแวดล้อมไม่เอื้ออำนวยจึงได้อพยพชาวบ้านมาหาที่อยู่ใหม่โดยเลือกเอาบริเวณใกล้ห้วยพรหมโหสถ์ ซึ่งบริเวณนั้นมีต้นแคฝอยมากมายชาวบ้านอรัญเดิมจึงเรียกที่อยู่นั้นว่า “บ้านอรัญทุ่งแค” ต่อมาพระอาจารย์สาระบุตร ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นเจ้าเมืองคนแรกของอรัญฯ ชื่อ “พระเหี้ยมใจหาญ” ต่อมาเมื่อพ.ศ.2435 สมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวปฏิรูปการปกครองใหม่ทำให้การปกครองระบบเจ้าเมืองหมดไป เมืองอรัญ มีสถานภาพเป็นอำเภอเมื่อ พ.ศ.2446 ราวพ.ศ.2449 หลวงชาญพิชัยยุทธ ถึงแก่กรรม เมืองอรัญจึงถูกลดฐานะจากอำเภอเป็นกิ่งอำเภอโดยขึ้นกับอำเภอวัฒนานคร และในปีพ.ศ.2449นั่นเองประเทศไทยต้องเสียดินแดนบางส่วนให้กับฝรั่งเศสตามหนังสือยกมณฑลบูรพาให้กับฝรั่งเศส ลงวันที่ 23 มีนาคม ร.ศ.125 เจ้าพระยาอภัยภูเบศก์ (ชุ่ม อภัยวงศ์) ผู้สำเร็จราชการมณฑลบูรพาและบริวารต้องอพยพย้ายจากพระตะบอง ผ่านอรัญ ไปตั้งชุมชนแห่งใหม่ ณ.ตำบลคลองวัว อำเภอเมือง จังหวัดปราจีนบุรี พ.ศ.2462 กรมรถไฟได้ปักหมุดกรุยทางเพื่อสร้างรางรถไฟจากอรัญประเทศจรดประเทศกัมพูชา พ.ศ.2469 ได้มีการเปิดเส้นทางเดินรถจากกบินทร์บุรี – อรัญประเทศ – พนมเปญ ทำให้มีการหลั่งไหลของกระแสวัฒนธรรมจากเมืองหลวงและประเทศข้างเคียงเป็นอันมาก พ.ศ.2481 มหาดไทยได้ ยกฐานะตำบลอรัญประเทศ เป็นเทศบาลตำบลอรัญญประเทศ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น